วัดอินทขีลสะดือเมืองเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่บริเวณถนนอินทรวโรรส ใกล้อนุเสาวรีย์ 3 กษัตริย์
ซึ่งคำว่าอินทขีล มาจากคำว่า อินทขีละ ในภาษาบาลี แปลว่า เสาเขื่อน เสาหิน หรือแท่งเสาหลักเมือง
แต่ก่อนวัดแห่งนี้มีชื่อว่าวัดอินทขีล ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นของประวัติศาสตร์ล้านนา
ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพญามังราย
แต่เนื่องจากที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่ตรงบริเวณสะดือเมืองเชียงใหม่ ทำให้ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดสะดือเมือง
ซึ่งในภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น วัดอินทขีลสะดือเมือง ตราบจนปัจจุบัน
ภายในวัดอินทขีล มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาเป็นเวลานาน
ซึ่งชาวเชียงใหม่เรียกว่า หลวงพ่อขาว อายุกว่า 700 ปี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบล้านนา มีพระพักตร์อิ่มเอิบ
ตั้งอยู่ภายในวิหารทรงล้านนาที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง
ถ้าใครขับรถไปบนถนนอินทรวโรรส จะเห็นวิหารหลังนี้ตั้งอยู่เหลื่อมถนนออกมาประมาณ 1 เลน
เนื่องจากแต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง และไม่ได้มีถนนตัดผ่าน
แต่ในภายหลังทางราชการได้สร้างถนนตัดผ่านวัด จึงทำให้ดูเหมือนวิหารแห่งนี้ถูกสร้างออกมาบนถนน
ซึ่งจริงๆ แล้ววิหารถูกสร้างขึ้นมาก่อนถนนนั่นเองครับ
ภาพวิหารหลวงพ่อขาวสมัยที่ยังไม่ได้สร้างวิหารหลังใหม่ครอบไว้
ภาพประกอบจาก http://www.watinthakhin.com
หลวงพ่อขาวที่ได้ถูกบูรณะ พร้อมกับได้มีการสร้างวิหารครอบไว้อย่างสวยงาม
บริเวณด้านหลังของวิหารหลวงพ่อขาว มีเจดีย์เก่าแก่ตั้งอยู่
พงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่าบริเวณที่สร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมเคยเป็นสถานที่พญามังรายต้องอัสนีบาตสวรรคต ต่อมาพระยาไชยสงคราม ราชโอรสทรงสร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิไว้ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ที่ปรากฏอยู่ภายในบริเวณศาลากลางหลังเก่า เป็นเจดีย์ทรงกลมผสมเรือนธาตุแปดเหลี่ยม องค์ระฆังคว่ำ ซึ่งนิยมสร้างกันมากในสมัยหริภุญไชย ซึ่งพบที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า เจดีย์ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19
เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ด้านหลังวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง(หลวงพ่อขาว) เป็นเจดีย์ ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 แต่เจดีย์องค์ในที่ถูกห่อหุ้มเป็นเจดีย์แบบสี่เหลี่ยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากหริภุญไชยคือ เจดีย์เชียงยันในวัดพระธาตุหริภุญไชย
บริเวณใกล้ๆ กับเจดีย์ มีซุ้มเล็กๆ ตั้งอยู่
ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมือง หรือ เสาอินทขิล
โดยในภายหลังได้ทำการย้ายเสาหลักเมืองไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
และได้ทำการสร้างเสาหลักอินทขีลจำลองขึ้นมาตั้งไว้แทน
เสาอินทขีลจำลองที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และ นำมาตั้งไว้ภายในวัดอินทขีลสะดือเมือง
แผนที่วัดอินทขีล
พิกัด GPS 18.789609,98.987111
เช่ารถในเชียงใหม่กับ Rentalcars.com