หน้าแรกเที่ยวเชียงใหม่ | แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่
ที่พักแนะนำในเชียงใหม่



โปรโมชั่นโรงแรมที่พักในเชียงใหม่


ชอบเรื่องนี้ช่วยกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับ

วัดหมื่นสาร

วัดหมื่นสาร วัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่
เป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาดมาเยือน

วัดหมื่นสารตั้งอยู่ที่ถนนวัวลาย ห่างจากวัดศรีสุพรรณ ไม่มากนัก
วัดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีการตกแต่งด้วยโลหะเงิน 
จากงานฝีมือของชุมชนชาววัวลายเช่นเดียวกับวัดศรีสุพรรณ


จากทางเข้าด้านหน้า สังเกตุทางด้านซ้ายมือจะมีพระอารามที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่
พระอารามหลังนี้คือ หอศิลป์สุทธจิตโต ภายในมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ
รูปปั้นหุ้นขี้ผึ้งของ 3 ครูบา ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย, ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และ พระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น ปุญญาคโม) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารแห่งนี้


หอ ศิลป์สุทฺธจิตฺโต    เป็นหอศิลป์ที่สร้างขึ้นจากดำริของ  พระครูสุทธิจิตตาภิรัต  เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารในปัจจุบัน  ร่วมกับคณะกรรมการวัด  และคณะศรัทธาวัดหมื่นสาร






ราวบันได ที่ทำด้วยโลหะเงิน
ซึ่งรูปแบบที่ทำจะเป็นลักษณะล้านนาประยุกต์

ด้านข้างหอศิลป์ฯ เป็นภาพศิลปะที่ทำจากโลหะเงินเช่นกัน
ซึ่งภาพที่ติดอยู่ที่ผนังเป็นภาพพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งมีทั้งหมด 12 ภาพด้วยกัน

ก่อนจะเข้าไปชมความงามของหอศิลป์ด้านใน
เราแวะกราบไหว้ รูปปั้นพระครูบาศรีวิชัย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าหอศิลป์ฯ กันก่อน

พระวิหารหลังใหญ่ ทางด้านขวามือเป็นพระเจดีย์แห่งวัดหมื่นสาร





เข้าไปชมความงามด้านในกันต่อเลยดีกว่าครับ



ประตูทางเข้าด้านหน้า

งานแกะสลักสุดเนี๊ยบ เป็นการเล่าเรื่องราวของวรรณกรรมชื่อดังเรื่อง รามเกียรติ์


รูปปั้นหุ่นขี้พระครูบาทั้ง 3

ประตูด้านหน้าแกะสลักเป็นตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์
ทางด้านซ้ายมือเป็นรูปหนุมาน และ ทางขวามือเป็นรูปมัจฉานุ ซึ่งเป็นลูกของหนุมาน

นอกจากนั้นภายในหอศิลป์แห่งนี้ยังมีภาพแกะสลักลวดลายต่างๆ อีกมากมาย
ทางที่ดีต้องมาเห็นด้วยตาตัวเองจะรู้สึกประทับใจมากยิ่งขึ้น



ประวัติเกี่ยวกับวัดหมื่นสาร
ประวัติวัดหมื่นสารมีปรากฏตั้งแต่สมัยพระเจ้าลกติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย องค์ที่ 12 ครองนครเชียงใหม่ เมื่อจุลศักราช 804-840 (พ.ศ. 1985- 2021) ในตำนานพระสิลาว่า ในสมัยนั้น พระมหาญาณโพธิอยู่สำราญในวัดป่าแดงที่นั้น พระลกติโลกราช ทรงสั่งให้ หมื่นคำภา เวียงดิน นำเอาพระสิลาเจ้าไปถวายแด่พระมหาญาณะโพธิในวัดป่าแดงที่นั้นแล ส่วนพระมหาญาณะโพธิเถระเจ้า ก็ให้ทำสักการะบูชาและสรงพระสิลาเจ้าด้วยสุคนธวารี มีประการต่าง ๆ ในขณะยามนั้น ห่าฝนอันใหญ่ก็หลั่งไหลลงมาเป็นอันมากก็มีแล ในกาลเมื่อนั้นอำมาตย์ใหญ่ผู้หนึ่งมีนามว่า หมื่นหนังสือวิมลกิตติ เป็นสังฆการีนั้น ก็ให้สร้างวิหารในวัดหมื่นสารแล้วก็ไปอาราธนาเอาพระสิลาเจ้าจากวัดป่าแดงมาประดิษฐานไว้ในวัดหมื่นสาร เพื่อให้จำเริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาต่อไปภายหน้า มหาสวามีเจ้าตนเป็นสังฆนายกอยู่ในวัดหมื่นสารมีนามว่า พุทธญาณเถร ก็ไปยังวัดสวนดอกไม้แล้วก็อาราธนาพระสิลาเจ้าไปเพื่อกระทำสักการะบูชาแล้วนิมนต์กลับมาวัดหมื่นสารดังเดิมนั้นแล ซึ่งแสดงว่าวัดหมื่นสารมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าลกติโลกราชแล้วและคงเป็นวัดสำคัญเพราะเจ้าอาวาสเป็นถึงชั้น “มหาสวามีสังฆนายก” นอกจากนี้ยังปรากฏในพงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติหน้า 401 บรรทัดที่ 10 กล่าวว่า ลุศักราช 884 (พ.ศ. 2065) พระเจ้าอาทิตยวงศ์ เสวยราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แต่งราชทูตมาสืบทางราชไมตรีพระเจ้าเชียงใหม่จัดการรับรองราชทูตพอสมควรแปลพระราชสาส์นยังวัดหมื่นสารดังนี้ ซึ่งในสมัยนั้นตรงกับสมัยพระเมืองแก้ว ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์เม็งราย และในตำนานวัดต่าง ๆ (ธรรมก้อมหรือธรรมประวัติเรื่องสั้น) จารไว้ในใบลานด้วยอักษรพื้นเมืองซึ่งพระมหาหมื่นญาณวุฑฒิ วัดเจดีย์หลวง ได้กล่าวถึง การตั้งชื่อวัด คำว่า “ หมื่นสาร ” ไว้ว่า ศักราช 888 (พ.ศ. 2069) สมัยแผ่นดินพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์นครพิงค์ องค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์เม็งรายธานี แห่งแคว้นลานนาไทย สมัยนั้นมีเสนาอามาตย์ ผู้หนึ่ง ชื่อวิมลกิตติ (นายทหารยศชั้นหมื่น) ได้ฐาปนาพระอารามนี้ขึ้น โดยมีบาลีกล่าวไว้ซึ่งแปลได้ว่า อาวาสนี้ อันหมื่นวิมลกิตติ ผู้เป็นมหาโยธา (ทหารผู้ใหญ่) ในนครนี้ตั้งไว้แล้วสำหรับหมื่นวิมลกิตตินี้มีชื่อปรากฏอยู่หลายแห่งหลายสมัยหลายกษัตริย์ด้วยกัน เมื่อสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระศิลานั้นอยู่ในสมัยพระเจ้าลกติโลกราช และปรากฏในศิลาจารึกวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) เมื่อสร้างวัดร่ำเปิง เป็นสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย และเมื่อฐาปนาอารามวัดหมื่นสารครั้งหลังนี้อยู่ในสมัยพระเมืองเกษเกล้าดังกล่าว ชื่อเต็มของท่านมีชื่อว่า “ หมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี ” เป็นสังฆการีและเกี่ยวกับการรับรองราชทูตและแปลพระราชสาส์น ท่านได้อุปถัมภ์วัดหมื่นสารมาตลอด วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดหมื่นสาร”

วัดหมื่นสาร เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีเจ้าอาวาสที่ทรงภูมิธรรมดังปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ที่กล่าวแล้วในตอนต้น ดังนั้น ในวัดแห่งนี้จึงมีคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจโดยสถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อราวทศวรรษ 2520 พบคัมภีร์ใบลานของวัดหมื่นสารจำนวน 163 รายการ 815 ผูก อย่างไรก็ดีจากศักราชที่ระบุในใบลานเช่น จศ.1187 ก็พบว่าเป็นเอกสารที่มีอายุประมาณ 200 กว่าปี


แผนที่วัดหมื่นสาร
พิกัด GPS 18.77717,98.98458



โปรโมชั่นโรงแรมที่พักในเชียงใหม่ by Agoda




เช่ารถในเชียงใหม่กับ Rentalcars.com



ชอบเรื่องนี้ช่วยกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับ




บทความที่ได้รับความนิยม